การประมวลผลแบบคลาวด์
เป็นรูปแบบหนึ่งของการให้บริการทรัพยากรคอมพิวเตอร์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เช่น หน่วยประมวลผล หน่วยความจำ พื้นที่เก็บข้อมูล ซอฟต์แวร์ ซึ่งสามารถอำนวยความสะดวกได้ทุกที่ทุกเวลา โดยไม่สนใจว่าทรัพยากรที่ใช้นั้นอยู่ที่ใด เปรียบเสมือนการใช้บริการสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา นั่นคือใช้บริการได้โดยไม่ต้องรู้ว่าโรงผลิตอยู่ที่ใด เพียงแต่ต้องจ่ายค่าบริการตามปริมาณที่ใช้
การประมวลผลแบบคลาวด์สามารถใช้งานได้ผ่านอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต โดยเรียกใช้ผ่านเบราวเซอร์หรือแอปพลิเคชั่น
เมื่อมีการใช้บริการการประมวลผลแบบคลาวด์ เช่น แชร์ภาพบนเครือข่ายสังคม ไฟล์ภาพนั้นไม่ได้ถูกนำไปเก็บในก้อนเมฆ (cloud) หรือบนอากาศ แต่ไฟล์ภาพนั้นถูกจัดเก็บอยู่ในศูนย์ข้อมูล (data center) ของผู้ให้บริการ (cloud service provider) ที่ประกอบไปด้วยคอมพิวเตอร์จำนวนมากเชื่อมต่อกับระบบเครือข่าย ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถเรียกดูภาพนั้นได้ตลอดเวลา
นอกเหนือจากเครือข่ายสังคม ยังมีบริการอื่นๆ ที่ใช้บริการการประมวลผลแบบคลาวด์บนอินเทอร์เน็ต เช่น อีเมล์ ภาพยนตร์ออนไลน์ เพลงออนไลน์ พื้นที่จัดเก็บข้อมูลออนไลน์
ค่าใช้จ่ายการประมวลผลแบบคลาวด์
- สำหรับบุคคลทั่วไป — มักไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ได้รับบริการพื้นฐานอย่างจำกัด หากต้องการใช้บริการเพิ่มเติม ต้องเสียค่าบริการสำหรับการใช้งาน
- สำหรับภาคธุรกิจ — มีค่าใช้จ่ายสำหรับอำนวยความสะดวกแก่หน่วยงานที่พร้อมใช้งาน โดยไม่ต้องซื้ออุปกรณ์หรือแอปพลิเคชั่นเอง ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการลงทุน และค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้ดูแลระบบ นอกจากนี้ยังปรับเพิ่ม-ลด ทรัพยากรที่ต้องการใช้งานได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเกินความจำเป็น
เปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสีย การประมวลผลแบบคลาวด์
ข้อดีของการประมวลผลแบบคลาวด์
- เชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อใช้งานได้ทุกที่ ทุกเวลา
- ใช้งานฟรี หรือจ่ายเงินเพิ่ม เพื่อเพิ่มเติมความสามารถ
- ประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์ แอปพลิเคชั่น และจ้างผู้ดูแลระบบ
- ยืดหยุ่นในการปรับเพิ่ม-ลดขนาดทรัพยากร
ข้อเสียของการประมวลผลแบบคลาวด์
- ต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในการรับ-ส่งข้อมูล
- ข้อมูลอาจถูกโจรกรรมจากช่องโหว่ด้านการรักษาความปลอดภัย
- หากระบบขัดข้องอาจทำให้สูญเสียโอกาสทางธุรกิจ
รูปแบบการให้บริการการประมวลผลแบบคลาวด์
- Infrastructure-as-a-Service (IaaS) คือ การให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วย ระบบประมวลผล ระบบการจัดเก็บข้อมูล ระบบเครือข่าย และระบบรักษาความปลอดภัย ผู้ใช้บริการสามารถใช้งานได้ตามการใช้งานจริง แทนการซื้ออุปกรณ์ ประหยัดค่าบำรุงรักษาและค่ารักษาความปลอดภัยของระบบ เช่น Microsoft Azure, Dropbox, Google Drive for business, Amazon Web Services
- Platform-as-a-Service (PaaS) คือ การให้บริการด้านแพลตฟอร์ม สำหรับผู้ใช้งานที่เป็นนักพัฒนาแอปพลิเคชั่นเป็นหลัก โดยจะมีเครื่องมือให้บริการโดยไม่ต้องติดตั้งด้วยตนเอง รวมถึงสามารถติดตั้งแอปพลิเคชั่นที่พัฒนาเสร็จแล้วเพื่อใช้งานบนคลาวด์ของผู้ให้บริการได้โดยง่าย เช่น บริการฐานข้อมูลสำหรับพัฒนาเว็บไซต์
- Software-as-a-Service (SaaS) คือการให้บริการด้านซอฟต์แวร์บนคลาวด์ ผู้ใช้บริการใช้งานได้ผ่านเบราวเซอร์ ลดค่าใช้จ่ายในการพัฒนา ติดตั้ง บำรุงรักษา และรักษาความปลอดภัยของซอฟต์แวร์ คิดค่าบริการตามลักษณะการใช้งาน เช่น Microsoft Office 365, Google G-suite
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น